ณ ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดตัวโครงการฝึกอบรมวิชาชีพแม่บ้านการโรงแรม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวหลังจากที่วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวหยุดชะงักมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยปัจจุบันสถานประกอบการโรงแรมหลายแห่งได้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานแม่บ้าน ในขณะที่ประชาชนประสบปัญหาการว่างงาน
“โครงการฝึกอบรมวิชาชีพแม่บ้านการโรงแรม เริ่มต้นจากแนวคิดที่อยากให้โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครเชื่อมกับอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง โดยธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่สร้างเงินมหาศาลให้กับเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร แต่ในช่วงที่ผ่านมาโรงแรมหลายแห่งขาดแรงงานแม่บ้าน กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สมาคมโรงแรมไทย และชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านประเทศไทย โดยใช้หลักสูตรที่สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ มีอยู่แล้ว มาช่วยกันพัฒนาให้เป็นหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้คือภาคทฤษฎี 2 วัน ณ โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร 6 แห่ง ที่ใกล้กับชุมชนและโรงแรมที่ต้องการแรงงาน ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีชุมชนกว่า 2,000 ชุมชน จำนวนประชาชนในชุมชนกว่า 2 ล้านคน และประชาชนจำนวนมากยังต้องการงาน ต้องการอาชีพ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นการจับคู่อุปทาน (supply) ให้สอดคล้องกับอุปสงค์ (demand) เพื่อนำผู้ที่ผ่านการฝึกอาชีพเข้าสู่ตลาดแรงงานจริง ๆ คาดหวังว่าจะมีคนเข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น โดยผู้ที่เรียนจบจากหลักสูตรเราจะได้รับประกาศนียบัตรรับรอง ซึ่งเป็นการรับประกันคุณภาพ ทั้งยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ในการนี้ นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ได้กล่าวถึงภาพรวมหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตร เป้าหมายหลักสูตร และการเรียนการสอน นางสาววรชนาธิป จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกรุงเทพมหานครเพื่อพัฒนาการฝึกอบรมตามมาตรฐานอาชีพ และความร่วมมือ 3 ฝ่าย (กรุงเทพมหานคร สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ และสมาคมโรงแรมไทย) เพื่อตอบสนองปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในธุรกิจโรงแรม นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ได้กล่าวถึงกล่าวถึงความต้องการแรงงานแม่บ้านโรงแรม ความร่วมมือและการสนับสนุนสถานที่ฝึกปฏิบัติงานในโรงแรมสังกัดสมาคมโรงแรมไทย ตลอดจนการพิจารณารับผู้ผ่านการอบรมเข้าสู่ตลาดแรงงาน และนางจรีวรรณ หอมบุบผา ผู้แทนชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านประเทศไทย ได้กล่าวถึงการร่วมพัฒนาหลักสูตรกับกรุงเทพมหานคร
● ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมพัฒนาหลักสูตร “พนักงานแม่บ้านโรงแรมระดับต้น” เรียน 54 ชั่วโมง ได้รับใบ Certificate
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถในด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านประเทศไทย และตัวแทนสถานประกอบการโรงแรม (The Sukosol Hotel Bangkok) เข้าร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นแบบฐานสมรรถนะของโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร และได้ดำเนินการแก้ไขชื่อหลักสูตรดังกล่าวเป็นชื่อหลักสูตร “พนักงานแม่บ้านโรงแรมระดับต้น” ระยะเวลาหลักสูตร รวม 54 ชั่วโมง (9 วัน) เมื่อจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรจำนวน 4 ใบ คือ 1. ประกาศนียบัตรจากโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 2. ประกาศนียบัตรร่วม 3 ฝ่าย คือ กรุงเทพมหานคร สมาคมโรงแรมไทย และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ 3. ประกาศนียบัตรจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ (หากผู้เรียนผ่านการทดสอบจากระบบ E-Training จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ) และ 4. ประกาศนียบัตรจากชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านประเทศไทย
สำหรับผู้ผ่านการอบรม นอกจากจะได้รับประกาศนียบัตรแล้ว ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ จะนำข้อมูลเข้าระบบแอปพลิเคชัน “ปักหมุดมืออาชีพ” หรือ propin ซึ่งจะเห็นข้อมูลติดต่อเบื้องต้นของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากสถาบันฯ ในระยะ 10 กิโลเมตร ทำให้องค์กรหรือผู้ประกอบการที่ต้องการบุคลากรสามารถเลือกได้ว่าอยากได้บุคลากรในสาขาวิชาชีพใด โดยสามารถเชื่อมั่นในคุณภาพได้ว่าเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้ ความสามารถ มีความเป็นมืออาชีพ และผ่านการประเมินอย่างมีมาตรฐาน นอกจากนี้ทางสถาบันยังมีระบบ E-Training เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองได้ เป็นการลดเวลาเรียนให้น้อยลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวผู้เรียนเองด้วย
● แบ่งการเรียนการสอนเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีงานรองรับเมื่อผ่านการฝึกอบรม
สำหรับภาคทฤษฎี จะเป็นการเรียนการสอนในวิชาความรู้เบื้องต้นในงานพนักงานแม่บ้านโรงแรม จำนวน 12 ชั่วโมง โดยทำการเรียนการสอนวันละ 6 ชั่วโมง จำนวน 2 วัน ที่โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับชุมชนและโรงแรม เพื่อความสะดวกของผู้เรียนในการเดินทาง จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ บางรัก คลองเตย ดินแดง 1 ประเวศ กาญจนสิงห์หาสน์ฯ (ตลิ่งชัน) และม้วน บำรุงศิลป์ (ลาดพร้าว) วิทยากรคือผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และชมรมผู้บริหารงานแม่บ้านประเทศไทย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานพนักงานแม่บ้านโรงแรมตามมาตรฐานที่กำหนด รวมทั้งได้ศึกษาเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติด้านสุขลักษณะในสถานที่ทำงาน การอ่านและทำความเข้าใจคำสั่งพื้นฐาน คำแนะนำและแผนภาพ การทำงานกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ การทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย การทำตามคำสั่งที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างมีประสิทธิภาพ การให้บริการและการจัดเก็บข้อมูลในงานแม่บ้านโรงแรม การทำความสะอาดและการจัดเตรียมห้องพักในโรงแรม
ในส่วนของภาคปฏิบัติ จะเป็นการเรียนการสอนในวิชาฝึกปฏิบัติงานพนักงานแม่บ้านโรงแรม จำนวน 42 ชั่วโมง แบ่งเป็นวันละ 6 ชั่วโมง จำนวน 7 วัน โดยทำการฝึกปฏิบัติงานในโรงแรมที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 แห่ง ซึ่งมีความต้องการแรงงานแม่บ้านมากกว่า 180 อัตรา เพื่อปฏิบัติงานพนักงานแม่บ้านโรงแรมตามมาตรฐานที่กำหนดทั้งในสถานศึกษาหรือภายนอกสถานศึกษา โดยการฝึกประสบการณ์ประกอบด้วย งานทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ งานจัดเตรียมห้องพักในโรงแรม งานปฏิบัติหน้าที่และบริหารงานแผนกซักรีด งานจัดการห้องผ้า (Linen Room) งานทำความสะอาดอุปกรณ์และพื้นที่ปฏิบัติงาน งานใช้เครื่องมือรักษาความปลอดภัยเบื้องต้น งานสังเกตการณ์และดูแลตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และงานวางแผนและจัดการงานเพื่อความยั่งยืน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทำความสะอาดในแต่ละหน้าที่งาน ในการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ ผู้เรียนจะได้รับเบี้ยเลี้ยง เครื่องแบบ ตามเงื่อนไขของแต่ละโรงแรม
ทั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับโรงแรมที่ฝึกปฏิบัติ หรือโรงแรมอื่น ๆ ในสังกัดสมาคมโรงแรมไทย โดยทางโรงแรมจะเป็นผู้คัดเลือก
● เปิดรับสมัครบัดนี้ถึงวันที่ 14 พ.ค. 66 จบชั้น ป.6 ก็สมัครได้
กรุงเทพมหานครขอเชิญชวนผู้สนใจ อายุระหว่าง 18 – 45 ปี วุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สมัครเข้าเรียนหลักสูตร “พนักงานแม่บ้านโรงแรมระดับต้น” ผ่านทางกูเกิลฟอร์มของโครงการ โดยคลิก https://shorturl.asia/yR9mO ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (มีค่าสมัครเรียน 105 บาท) กำหนดเปิดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีในวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2566 และเปิดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติประมาณวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566 หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2247 9496 หรือเฟซบุ๊ก ฝึกอาชีพสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร